บทวิเคราะห์ ประเทศใดบ้างอาจตกเป็นเป้าโจมตีของอิหร่าน
บทวิเคราะห์ ประเทศใดบ้างอาจตกเป็นเป้าโจมตีของอิหร่าน สถานการณ์การเมืองโลกกำลังร้อนระอุ หลังอิหร่านประกาศว่าจะแก้แค้นสหรัฐฯ ที่ใช้โดรนสังหารนายพลคนสำคัญ พลตรี คาเซม โซเลมานี ของกองทัพอิหร่านในกรุงแบกแดด ประเทศอิรัก
ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ของสหรัฐฯ กล่าวว่าหากเกิดการโจมตีโดยอิหร่าน อเมริกาจะโต้กลับอย่างรุนแรงและรวดเร็ว ผู้นำสหรัฐฯ กล่าวด้วยว่ากระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ระบุสถานที่ในอิหร่าน 52 แห่งที่อเมริกาตั้งเป้าไว้ เขากล่าวด้วยว่าบางแห่งเป็นสถานที่สำคัญทางวัฒนธรรม
นอกจากนี้ อเมริกาส่งกำลังไปยังตะวันออกกลางเพื่อปกป้องรักษาผลประโยชน์แห่งชาติในภูมิภาคดังกล่าวแล้ว นักวิเคราะห์รวมถึงเจ้าหน้าข่าวกรองและเจ้าหน้าที่การทูตต่างพิจารณาถึงความเป็นไปได้ที่พันธมิตรของสหรัฐฯ ประเทศต่างๆ อาจจะถูกโจมตีโดยอิหร่านได้ด้วยเช่นกัน
อิรักเตรียมรับสถานการณ์ อิสราเอล “อยู่ใกล้แค่เอื้อม”
ขณะนี้ประเทศที่เป็นมิตรกับอเมริกากำลังวางแผนรับมือ ถ้าอิหร่านปฏิบัติการโจมตี อิสราเอลกำลังยกระดับมาตรการป้องกันประเทศ โดยจับตากลุ่มเฮสโบลลาห์ ที่อาจร่วมกับอิหร่านแก้แค้น เพราะกลุ่มเฮสโบลลาห์เป็นหนึ่งในกองกำลังติดอาวุธในตะวันออกกลางที่ได้รับการสนับสนุนจากอิหร่าน
พลตรี โซเลมานี ซึ่งเป็นผู้บัญชาการกองกำลังคุดส์ของกองทัพอิหร่าน และเป็นผู้วางแผนและประสานงานคนสำคัญกับกลุ่มต่างๆ ในตะวันออกกลาง เขามีความต้องการที่จะสร้างความเสียหายและล้มตายให้แก่ทหารอเมริกันในตะวันออกกลาง เพื่อที่จะให้สหรัฐฯ หมดความตั้งใจในการต่อสู้ในภูมิภาคนี้ต่อไป
ตัวแทนของเฮสโบลลาห์ชาวเลบานอนรายหนึ่งกล่าวว่าการตอบโต้สหรัฐฯ จากฝ่ายที่มีอิหร่านหนุนหลัง ที่เรียกตนเองว่า “axis of resistance” จะเป็นไปอย่างแน่วแน่ คำกล่าวเช่นนี้สอดคล้องกับท่าทีของผู้นำสูงสุดอิหร่าน อะยาโตลาห์ อาลี คาเมนี ซึ่งระบุว่านายพลโซเลมานี เป็นเพื่อนของตนและเป็นวีรบุรุษของประเทศ
จับตา “ช่องเเคบฮอร์มุส” เส้นทางบรรทุกนำ้มัน
นายทหารคนสำคัญอีกคนหนึ่งของอิหร่านในจังหวัดเคอร์มาน ซึ่งเป็นบ้านเกิดของนายพลโซเลมานี กล่าวว่ากองทัพรัฐบาลเตหะรานอาจกลับมาโจมตีเรือบรรทุกน้ำมันในช่องแคบฮอร์มุส บริเวณอ่าวเปอร์เซีย
นายพลรายนี้ที่มีชื่อว่า โกลามาลี อาบูฮัมเซ กล่าวว่าอิหร่านสามารถระบุเป้าสำคัญที่เป็นผลประโยชน์ของสหรัฐฯ ราว 35 จุด ไว้นานแล้ว เขาบอกด้วยว่า เมืองเทลอาวีฟของอิสราเอล ก็อยู่ในระยะแค่เอื้อมของอิหร่าน
นอกจากอิสราเอล อิรักเป็นจุดเสี่ยงอีกแห่งเช่นกัน ซึ่งชาวชิอะห์ในอิรักซึ่งฝักใฝ่อิหร่านแสดงจุดยืนอย่างชัดแจ้งผ่านการลงมติในสภาผู้แทนราษฎรอิรัก เพื่อเป็นการกดดันให้รัฐบาลถอนการอนุญาตให้มีกองกำลังอเมริกันในประเทศ
โทบี ดอดจ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านตะวันออกกลางแห่งมหาวิทยาลัย London School of Economics ที่อังกฤษกล่าวว่า การแก้แค้นสหรัฐฯ จากอิหร่านในขั้นแรกน่าจะเกิดขึ้นในอิรัก ซึ่งเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมาจรวดหลายลูกถูกยิงไปตกใกล้กับสถานทูตสหรัฐฯ ประจำกรุงแบกแดด
ซาอุฯ-ยูเออี กับสงครามตัวแทนในเยเมน
นอกจากนี้ รัฐบาลเตหะรานอาจมุ่งเป้าไปที่ ซาอุดิอาระเบียและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ สองประเทศตะวันออกกลางที่ใกล้ชิดกับสหรัฐฯ และเป็นสองประเทศที่เป็นปรปักษ์รายสำคัญของนิกายชิอะห์ของอิหร่าน
นักวิเคราะห์กล่าวว่า การโจมตีซาอุฯ และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ อาจเกิดขึ้นผ่านกลุ่มกบฏฮูติในเยเมนที่อิหร่านหนุนหลังอยู่ในสงครามตัวแทน ซึ่งซาอุฯ เป็นแกนนำสนับสนุนกลุ่มตรงข้าม
สำหรับกาตาร์ ซึ่งเป็นสถานที่ที่สหรัฐฯ ส่งโดรนไปสังหารพลตรี โซเลมานี จากฐานทัพอเมริกัน ทางการกาตาร์ส่งรัฐมนตรีต่างประเทศเดินทางไปอิหร่านเรียบร้อยแล้ว ซึ่งดูเหมือนว่าเขาได้รับมอบหมายให้ไปบรรเทาความโกรธของผู้นำอิหร่าน
แต่ด้วยความที่กาตาร์มีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนงานการทูตของอิหร่านหลายด้าน ผู้สันทัดกรณีจึงไม่คิดว่าอิหร่านจะจู่โจมกาตาร์
ตอกย้ำรอยแยกในกลุ่มพันธมิตรโลกตะวันตก
แน่นอนว่าพันธมิตรของสหรัฐฯ ในยุโรปกังวลต่อความเป็นไปได้ที่จะตกเป็นเป้าของอิหร่านเช่นกัน เช่นเดียวกับสหรัฐฯ ฝรั่งเศสและเนเธอร์แลนด์ สั่งการให้ประชาชนของตนเดินทางออกจากอิรัก
ขณะที่นายกรัฐมนตรี บอริส จอห์นสันของอังกฤษสั่งให้ทหารอังกฤษในอิรักได้รับการสนับสนุนด้านอาวุธที่รุนแรงขึ้น และให้ปกป้องนักการทูตอังกฤษ
เจ้าหน้าที่ข่าวกรองของยุโรปกล่าวว่ากำลังเฝ้าระวังการโจมตีผ่านระบบอินเตอร์เน็ตโดยอิหร่านด้วย เนื่องจากเมื่อปี ค.ศ. 2017 ระบบคอมพิวเตอร์ของรัฐสภาอังกฤษถูกเจาะข้อมูล และอิหร่านถูกมองว่าอยู่เบื้องหลังเหตุการณ์ดังกล่าว
ทั้งนี้ แหล่งข่าวกล่าวว่า อังกฤษน่าจะเป็นพันธมิตรของสหรัฐฯ ในยุโรปที่ต้องระวังตัวที่สุด เขาบอกว่า รัฐบาลเตหะรานคงไม่อยากเล่นงานหลายประเทศในยุโรป เพราะสิ่งที่อิหร่านต้องการคือตอกย้ำและขยายรอยร้าวระหว่างสหรัฐฯ กับประเทศเหล่านั้นมากกว่า
สนับสนุนโดย ข่าวการเมืองวันนี้ และขอขอบคุณ ข่าวการเมือง