หน้าแรก อาหาร ปศุสัตว์ปูพรม สแกนโรคอหิวาต์แอฟริกาในหมู

ปศุสัตว์ปูพรม สแกนโรคอหิวาต์แอฟริกาในหมู

171
0
ปศุสัตว์ปูพรม สแกนโรคอหิวาต์แอฟริกาในหมู

ปศุสัตว์ปูพรม สแกนโรคอหิวาต์แอฟริกาในหมู เตรียมพร้อมรับมือ ทดสอบวัคซีน

ปศุสัตว์ปูพรม สแกนโรคอหิวาต์แอฟริกาในหมู สถานการณ์หมูราคาแพงสูงสุดเป็นประวัติศาสตร์ จากโรคระบาด ได้กลายเป็นประเด็นที่สังคมไทยกำลังหาความจริงที่เกี่ยวกับโรคระบาดที่เกิดขึ้น เป็นเพราะโรคอหิวาต์แอฟริกากำลังระบาดในหมูที่เป็นต้นเหตุใหญ่หรือไม่ นอกเหนือจากโรคเพิร์ส และอหิวาต์ในหมู


กระทั่งมีเอกสารผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการของคณะสัตวแพทย์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน เมื่อปี 2564 ซึ่งได้ผ่าชันสูตรซากหมูเพื่อวินิจฉัยหาสาเหตุการตายเฉียบพลัน พบว่าป่วยเป็นโรคอหิวาต์แอฟริกาในหมู หรือ ASF

นั่นหมายความว่า ไทยไม่ได้ปลอดจากโรคอหิวาต์แอฟริกาในหมู เช่นเดียวกับประเทศเพื่อนบ้านรอบๆไทย และอีก 30 กว่าประเทศ เผชิญกับการระบาดของโรคนี้ในหมู ทำให้ผลผลิตหมูไม่เพียงพอกับความต้องการของตลาด โดยเฉพาะจีน ได้ทำลายหมูเพื่อควบคุมโรคไปมากถึง 500 ล้านตัว

เมื่อมีเอกสารออกมาชัดเจน ทางด้าน “นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต” อธิบดีกรมปศุสัตว์ ชี้แจงกับ “ทีมข่าวเจาะประเด็นไทยรัฐออนไลน์” ว่า หนังสือที่ออกมาเป็นของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ แต่ตาม พ.ร.บ.โรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2558 จะต้องมีการตรวจสอบยืนยันโรคโดยห้องปฏิบัติการของกรมปศุสัตว์ เท่านั้น ไม่ว่าห้องปฏิบัติการของมหาวิทยาลัย หรือเอกชนใด จะสามารถตรวจได้ก็ตาม แต่ยืนยันผลไม่ได้

ข่าวแนะนำ
ความจำเป็นของ car seat กับการออกกฎหมายบังคับ เพื่อเซฟชีวิตเด็ก
ปศุสัตว์ปูพรม สแกนโรคอหิวาต์แอฟริกาในหมู เตรียมพร้อมรับมือ ทดสอบวัคซีน
“ถ้ามีสัตว์ป่วยในพื้นที่ เกษตรกรต้องแจ้งกรมปศุสัตว์ตามกฎหมาย ถ้าไม่แจ้งก็มีความผิด หากไปส่งให้ตรวจที่อื่น ก็ควรส่งให้กรมปศุสัตว์ เพื่อให้ตรวจด้วย จะได้หาทางช่วยเหลือ และขณะนี้รัฐมนตรีเฉลิมชัย ศรีอ่อน ได้สั่งชุดเฉพาะกิจลงพื้นที่ฟาร์มทั่วประเทศ เพื่อสำรวจจำนวนสุกร ว่าขาดเท่าไรจากความต้องการของตลาด เพราะเดิมมี 22 ล้านตัว และเหลือ 18 ล้านตัว ถ้าเป็นโรคหรือป่วยจะได้รู้ เพราะปกติมีรายงานในระบบ ถ้าไม่มีการแจ้งก็ไม่มี”

นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์
นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์
การลงพื้นที่ทั่วประเทศของชุดเฉพาะกิจในช่วงวันที่ 8-9 ม.ค. จะสำรวจโรคและเก็บตัวอย่างจากเลือดสุกร เพื่อนำไปตรวจหาโรคโดยสถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติ และศูนย์ในต่างจังหวัดอีก 7 แห่ง พร้อมกับมีเจ้าหน้าที่กองสารวัตรและกักกัน ลงพื้นที่ไปด้วย โดยเฉพาะพื้นที่ที่ระบุว่าเกิดโรค แต่ทำไมที่ผ่านมาไม่มีการแจ้งมายังกรมปศุสัตว์ เพื่อประกาศเขตโรคระบาด ก่อนเข้าสู่ขั้นตอนจ่ายค่าชดเชยสุกรที่ถูกทำลาย

ความหวังวัคซีนไทย ต่อสู้ “อหิวาต์แอฟริกาในหมู”
อีกทั้งต้องบอกว่าโรคอหิวาต์แอฟริกา ไม่มีวัคซีนรักษา ป้องกันโรคได้ยากมาก แต่ไม่ติดต่อไปสู่คน หากไม่แจ้งจะมีความผิดตามกฎหมาย และหากตรวจพบโรคนี้ จะต้องทำระบบความปลอดภัยทางชีวภาพ ยกระดับฟาร์มให้ได้มาตรฐาน GAP หรือให้ได้มาตรฐาน GFM สำหรับฟาร์มรายย่อย เพื่อการป้องกันควบคุมโรค และเป็นฟาร์มระบบปิดไม่ให้ใครเข้าไป ซึ่งโดยปกติแล้วเกษตรกรรายย่อยมีการนำเศษอาหารไปเลี้ยงสุกรโดยไม่ต้มให้สุก ทำให้ก่อโรคจากเชื้อไวรัส

ในส่วนเอกสารของมหาวิทยาลัยเกษตรฯ มีการตรวจพบโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร ทางกรมปศุสัตว์ได้ประสานเพื่อขอข้อมูลว่าพื้นที่ใดส่งซากให้ตรวจ เพื่อจะเข้าไปตรวจสอบ และความจริงแล้วเกษตรกรควรต้องแจ้งกรมปศุสัตว์ เพื่อควบคุมการระบาดให้ทันถ่วงที อย่างประเทศจีน มีการระบาดจนต้องทำลายสุกรไปกว่า 500 ล้านตัว

 

“โรคนี้ เกิดมานาน 100 ปี ไม่มีวัคซีนรักษา แต่น่าจะเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ เพราะขณะนี้มหาวิทยาลัยจุฬาฯ และเกษตรศาสตร์ กำลังพัฒนาวัคซีน และผลิตเป็นโปรโตไทป์ ได้ผล 60-70% กำลังเข้าสู่การทดสอบฉีดในหมูในห้องทดลองของกรมปศุสัตว์ภายในเดือนนี้ ถ้าไทยผลิตได้ก็เป็นครั้งแรกของโลก เพราะไวรัสตัวนี้ใหญ่มากจะต้องศึกษารูปร่างโปรตีนหนาม ถือเป็นความหวังอย่างเดียว นอกจากระบบความปลอดภัยทางชีวภาพ จะนำมาใช้ควบคุมโรคอหิวาต์แอฟริกา เพราะในอนาคตโรคในสัตว์ในคนจะมีมากขึ้น”

ประเทศเพื่อนบ้านระบาดไปทั่ว ไทยไม่น่ารอด
ในฟากนักวิชาการ “ศ.ดร.สถาพร จิตตปาลพงศ์” คณบดีคณะเทคนิคการสัตวแพทย์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวฟันธงอย่างชัดเจนว่า ไทยไม่น่ารอดจากโรคอหิวาต์แอฟริกาในหมู เพราะประเทศเพื่อนบ้านมีการระบาด และไทยหละหลวมไม่เข้มงวดแนวชายแดน ทำให้พาหะของโรคเข้ามาได้ง่าย จากพื้นที่รอบนอกเข้ามาระบาดพื้นที่ชั้นใน อีกทั้งเกือบ 5 ปี มีการระบาดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตั้งแต่จีนมาถึงเวียดนาม และประเทศเพื่อนบ้านที่ล้อมไทย เหมือนอยู่ในไข่แดง ทำให้คิดว่าไทยไม่น่ารอด

ที่ผ่านมาคงมีการตรวจหาเชื้อโรคอหิวาต์แอฟริกาในหมูมาหลายรอบแล้ว และไม่ส่งผลให้กรมปศุสัตว์ในทันทีหรือไม่ หรือเป็นแค่การตรวจให้รับรู้ หรือเพราะเป็นภัยพิบัติอย่างหนึ่งทำให้หมูต้องถูกทำลาย เพื่อตัดวงจรการระบาด ต้องจ่ายค่าชดเชย ซึ่งที่ผ่านมาหน่วยงานรัฐจ่ายล่าช้ามากกว่า 7 เดือน ยังไม่ถึงเกษตรกร ถือเป็นเรื่องที่แย่มาก ทั้งๆที่ความเสียหายต้องรีบชดเชยทันที

“เรื่องเงินชดเชยไม่ใช่ประเด็นในการปกปิดโรคระบาด แต่เมื่อคนไม่รู้ว่าเกิดโรคระบาดอหิวาต์แอฟริกา ทำให้การป้องกันไม่เต็มที่ ให้ง่ายต่อการควบคุม และเมื่อกรมปศุสัตว์ไม่ประกาศออกมา ทำให้โรคกระจายไปไหนต่อไหน จนควบคุมไม่ได้ กระจายไปทั่วประเทศ และต้องยอมรับการจะแก้หมูแพง ไม่มีทางแก้ได้ เพราะโรคไม่หายไป ต้องจ่ายชดเชยค่าทำลาย”

แนวทางเพื่อไม่ให้โรคระบาดไปทั่ว ต้องปูพรมตรวจทั้ง 76 จังหวัด เพราะตาม พ.ร.บ.โรคระบาดสัตว์ฯ โดยกรมปศุสัตว์มีอำนาจเต็มที่ แต่ช่วง 2-3 ปี ไม่ทำอะไรเลย หรือกลายเป็นประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการเมืองหรือไม่ เหมือนกรณีไข้หวัดนกระบาด แต่บังเอิญมีคนตาย จนปกปิดไม่ได้กลายเป็นเรื่องใหญ่

ส่วนโรคอหิวาต์แอฟริกาในหมู ไม่ติดต่อสู่คน แต่เป็นโรคสัตว์ที่น่ากลัวและคุมยาก ติดแล้วอาการหนักมาก มีเลือดออกทั้งตัว ทำลายระบบในร่างกายและตายทันที ซึ่งโรคนี้ไม่เกิดภูมิคุ้มกัน ต้องทำลายตัดวงจร ก็เข้าใจว่ากรมปศุสัตว์ ได้วางแผนรับมือในระดับหนึ่ง

แต่กังวลว่าเมื่อเขื่อนแตก โรคระบาดกระจายไปเร็ว หากยังไม่ประกาศโรคระบาด จะไม่สามารถควบคุมได้ และไม่สามารถหยุดการเคลื่อนย้ายสัตว์ได้ เพราะขณะนี้ประเทศเพื่อนบ้านติดแนวชายแดนกำลังระบาด และไม่เข้มงวดในการควบคุม เพราะไม่เดือดร้อนจะได้รับผลกระทบต่ออุตสาหกรรมเหมือนไทย และคนน่าสงสารมากสุด คือเกษตรกรผู้เลี้ยงหมู ซึ่งควรได้เงินชดเชยมากกว่าปกติ และกรมปศุสัตว์ควรแจ้งว่ามีโรคระบาด ก่อนจ่ายเงินค่าทำลายซากให้กับเกษตรกรให้คุ้มทุน

“เป็นเรื่องที่ทำใจได้ยาก หากไม่มีแล็บจากวิทยาเขตกำแพงแสน เอาผลตรวจมายืนยันก็ยังคงคลุมเครือ และผลตรวจที่ออกมา ไม่แน่ใจว่าครั้งแรกหรือไม่ และไม่รู้ว่าเจอโรคนี้มานานแค่ไหน เพราะคนกลางรับตรวจมีไม่มาก คาดว่าขณะนี้หมูหายไปกว่า 60% และเมื่อหมูตาย เจ้าของก็รีบขาย ไม่รู้ว่าตายเพราะโรคอะไร แม้หมูที่ตายคนกินได้ หากทำให้สุก แต่ยังมีเชื้อหลงเหลืออยู่ หรืออาจปนเปื้อนมากับถุงก็ได้ หากกรมปศุสัตว์ไม่รีบใช้กฎหมาย ก็ยิ่งทำให้โรคแพร่กระจายไปทั่ว”

อ่านข้อมูลเพิ่มเติม >>> thennew.com

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here