สงครามเย็นครั้งใหม่ รัสเซีย ยูเครน เริ่มเปิดฉากขึ้นแล้ว ปูตินนำยุโรปกลับสู่ยุคหลังม่านเหล็ก
สงครามเย็นครั้งใหม่ รัสเซีย ยูเครน เริ่มเปิดฉากขึ้นแล้ว ปูตินนำยุโรปกลับสู่ยุคหลังม่านเหล็ก ผู้คนทั่วโลกต่างเข้าใจว่า สงครามเย็น (Cold War) ที่โลกทุนนิยมเสรีห้ำหั่นแข่งขันกับประเทศค่ายคอมมิวนิสต์นั้น ได้จบสิ้นลงไปแล้วเมื่อหลายสิบปีก่อน โดยมีเหตุการณ์ทุบทำลายกำแพงเบอร์ลินเมื่อปี 1989 เป็นสัญลักษณ์ของการก้าวเข้าสู่ยุคใหม่ ซึ่งผู้คนน่าจะมีอุดมการณ์ทางการเมืองคล้ายคลึงกันหมดแล้ว
อย่างไรก็ตาม สำหรับนายวลาดิเมียร์ ปูติน อดีตสายลับเคจีบีและผู้นำรัสเซียคนปัจจุบัน การล่มสลายของสหภาพโซเวียตและยุค “หลังม่านเหล็ก” อันเกรียงไกรที่ต้องสิ้นสุดลง โดยเป็นผลพวงจากการสลายความขัดแย้งในสงครามเย็นนั้น ยังคงเป็นความขมขื่นที่ติดค้างอยู่ในใจของนายปูตินอยู่เสมอมา และนี่อาจเป็นเหตุจูงใจอย่างหนึ่งที่ทำให้เขาฉีกข้อตกลงระหว่างประเทศ โดยผนวกเอาคาบสมุทรไครเมียของยูเครนที่แยกตัวเป็นเอกราชไปแล้ว กลับเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซียเมื่อปี 2014
มาตรการคว่ำบาตรจากชาติตะวันตกในครั้งนั้น ไม่สามารถทำให้รัสเซียเปลี่ยนใจยอมปล่อยมือจากดินแดนไครเมียได้ แต่ถึงกระนั้นก็ตาม สหรัฐฯ และบรรดาชาติในยุโรปก็ยังคงมองโลกในแง่ดีว่า พวกเขายังสามารถติดต่อคบหาและทำธุรกิจกับรัสเซียต่อไปได้ตามปกติ ประหนึ่งว่ารัสเซียยังคงเป็นผู้ร่วมอุดมการณ์เดียวกันประเทศหนึ่ง
รู้จักสองรัฐเกิดใหม่ที่รัสเซียให้การรับรอง
ท่อส่งก๊าซนอร์ดสตรีม 2 กับวิกฤตยูเครน-รัสเซีย
ชาติตะวันตกมีมาตรการอะไร ตอบโต้รัสเซียกรณียูเครน
แต่ในความเป็นจริงนั้น ตลอดช่วงสิบปีที่ผ่านมารัสเซียภายใต้การปกครองของนายปูตินแทบไม่เห็นโลกตะวันตกอยู่ในสายตา ทั้งยังเริ่มสร้างพันธมิตรใหม่กับจีนในยุคของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง โดยต่างให้การสนับสนุนกันและกัน รวมทั้งจับมือกันต่อต้านแนวร่วมชาติตะวันตกที่ยึดถืออุดมการณ์เสรีประชาธิปไตยหลายครั้ง ไม่ใช่เรื่องแปลกที่จีนนิ่งเฉยไม่ร่วมประณามรัสเซียหลังเหตุการณ์บุกยูเครน จนชาวไต้หวันเริ่มหวั่นวิตกว่า จีนอาจกำลังคิดดำเนินรอยตามรัสเซียอยู่ก็เป็นได้
ดูเหมือนว่าโลกได้หวนคืนสู่ยุคสงครามเย็นที่ประเทศต่าง ๆ แบ่งออกเป็นสองขั้วการเมืองใหญ่ แต่สงครามเย็นครั้งใหม่นี้ดูจะซับซ้อนยิ่งกว่าเก่ามาก แต่เดิมนั้นกฎสงครามมีความชัดเจน หากฝ่ายหนึ่งเตรียมรุกรานอาณาเขตของฝีกฝ่ายหนึ่ง ก็จะต้องถูกปรามด้วยคำขู่เรื่องการโจมตีตอบโต้อย่างเต็มรูป ซึ่งอาจยกระดับไปเป็นสงครามนิวเคลียร์ที่จะทำให้พินาศย่อยยับกันไปทั้งสองข้าง ดังนั้นการสู้รบอย่างรุนแรงในยุคสงครามเย็นจึงไม่เคยเกิดขึ้นจริง
เกิดระเบิดในกรุงเคียฟ หลังรัสเซียโจมตียูเครนเป็นวันที่สอง
รวมเหตุการณ์รัสเซียบุกยูเครนวันแรก
ทว่าในปัจจุบัน การล่มสลายของสหภาพโซเวียตทำให้ยากที่จะบอกได้ว่า เส้นเขตแดนของค่ายคอมมิวนิสต์เริ่มต้นและสิ้นสุดที่ตรงไหนกันแน่ การที่กลุ่มประเทศสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือหรือนาโต ซึ่งเป็นศัตรูตัวฉกาจของสหภาพโซเวียตในอดีต ไม่ใส่ใจต่อความรู้สึกของนายปูตินซึ่งเป็นผู้สืบทอดอุดมการณ์ยุคหลังม่านเหล็ก โดยกวาดเอาประเทศในยุโรปตะวันออกจำนวนมากที่เคยอยู่กับสหภาพโซเวียตไปเป็นสมาชิกนาโตนั้น ไม่ต่างกับการยั่วยุและเผชิญหน้ากับรัสเซียโดยตรง จนนำไปสู่การตัดสินใจจัดการกับยูเครนขั้นเด็ดขาด
เห็นได้ชัดว่าการตัดสินใจบุกยูเครนครั้งนี้เป็นของประธานาธิบดีปูตินแต่เพียงผู้เดียว โดยเขาไม่ฟังเสียงคัดค้านจากนักการเมือง ผู้บัญชาการทหาร และประชาชนชาวรัสเซียจำนวนไม่น้อยที่ออกมาประท้วง
ยิ่งเผชิญกับการต่อต้านของคนในประเทศตัวเองเช่นนี้ ผู้นำรัสเซียยิ่งต้องมุ่งมั่นที่จะเป็นฝ่ายชนะในศึกสั่งสอนยูเครนให้ได้ ไม่ว่าจะเป็นการบรรลุถึงเป้าหมายทางทหารชั่วคราวก่อนถอนกำลังออกมาในเวลาอันสั้น หรือบรรลุถึงเป้าหมายสูงสุดโดยโค่นล้มรัฐบาลยูเครนและผนวกดินแดนในที่สุดก็ตาม
มีความเป็นไปได้สูงว่านายปูตินจะประสบความสำเร็จอีกครั้ง เหมือนกับตอนที่เขาผนวกดินแดนคาบสมุทรไครเมียเมื่อหลายปีก่อน แต่หากมีสิ่งผิดพลาดเกิดขึ้นและผลการสู้รบไม่เป็น์ไปตามที่คาดไว้ สถานะผู้นำของเขาจะต้องสั่นคลอน ส่งผลให้การปราบปรามฝ่ายค้านภายในรัสเซียจะต้องรุนแรงขึ้นไปอีก
นอกจากนี้ ยังมีผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการคว่ำบาตรตามมาด้วย แต่คาดว่าความช่วยเหลือจากจีนจะพอชดเชยและบรรเทาปัญหาในส่วนนี้ได้บ้าง
ไม่น่าเชื่อว่าอุดมการณ์และความแค้นที่ฝังรากลึกในใจของประธานาธิบดีปูติน จะนำโลกหวนคืนสู่บรรยากาศแห่งความอึมครึมตึงเครียดของยุคสงครามเย็นอีกครั้ง ส่วนโลกตะวันตกนั้นก็จะได้เรียนรู้เสียทีว่า โลกยุคใหม่ไม่ได้สลัดทิ้งร่องรอยของอดีตไปจนหมดสิ้นอย่างที่พวกเขาเข้าใจกัน
อ่านข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่ : thennew.com